ประเด็นร้อน

ประชาชน 4.0 สู้คอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 01,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต่างมุ่งตรวจสอบการคอร์รัปชันในรูปแบบของตัวเอง

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีประชาชนและเสวนา "คอร์รัปชัน 4.0" ซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาชน เข้าร่วมเสวนาและบรรยากาศก็เป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางพื้นที่เมืองย่าน ถนนทองหล่อ พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ต้องการสื่อสารเรื่องการเมืองเป็นหลัก หากแต่มีขึ้นเพียงเพื่ออัพเดทสถานการณ์และบันทึกถึงความเป็นไปของภาคประชาชน ที่พยายามตรวจสอบการคอร์รัปชันของ ผู้มีอำนาจในรูปแบบที่แตกต่างกัน

 

วีระ สมความคิด เลขาธิการ เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน สะท้อนภาพทำงานตรวจสอบของภาคประชาชนตอนหนึ่งว่า ตลอดเวลาของการยื่นร้องเต็มไปด้วยอุปสรรค และการปฏิเสธของผู้มีอำนาจว่าไม่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าการตรวจสอบของภาคประชาชนไม่ได้มาจากสาเหตุส่วนตัวหรือละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่มาจากการที่บุคคลเหล่านั้นคือบุคคลสาธารณะ และหลักฐานที่เอามาปรากฏก็เป็นภาพที่ถูกถ่ายในที่สาธารณะ

 

ทั้งนี้กรณีนาฬิกาและแหวนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นตนยื่นให้มีการตรวจสอบ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.กรณีจงใจปกปิด ไม่แจ้งและแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 2. กรณีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่ง ข้อสังเกตที่ว่านี้เป็นสิ่งที่พลเมืองสามารถตั้งคำถามและยื่นร้องเรียนได้ ดังนั้นพลเมืองที่รักษาผลประโยชน์และ ทำตามกรอบกติกาไม่จำเป็นต้องกลัว อำนาจใดๆ

 

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าว ตอนหนึ่งว่า แม้โลกจะเดินหน้าไปถึงยุค 4.0 แต่การคอร์รัปชันเกิดขึ้นในเมืองไทยสะท้อนให้เห็นว่ายังไม่ค่อยเป็น 4.0 กลับเป็นด้านพลเมืองที่ก้าวหน้าไปมากกว่า อาทิ การระดมข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย  ซึ่งมีช่องทางให้แต่ละคนระดมข้อมูล  หากเป็นเมื่อก่อนที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย  เรื่องนาฬิกาและแหวนคงเกิดเป็นประเด็นได้ยาก และนี่คือการใช้โซเชียลฯให้เป็นประโยชน์ การเติบโตของอินเทอร์เน็ตทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งทางรัฐและประชาชน

 

"เคยสัมภาษณ์เจ้าของเพจ CSILA ซึ่งวิธีการน่าสนใจมาก คือเขาทำในสิ่งที่ใช้โซเชียลมีเดียช่วย ด้วยการเอาภาพที่เป็นสาธารณะออกมา แล้วยังไปสร้าง Google doc ซึ่งเป็นช่องทางให้แต่ละคนส่งข้อมูลมา ทำให้มีคนเข้าไปใส่ข้อมูล อัพโหลดรูปได้ เป็นการทำ Crowdsourcing เพื่อให้เซียนนาฬิกาช่วยค้นหาคำตอบ อันนี้คือตัวอย่างที่ดีสำหรับการรวมพลังพลเมืองรุ่นใหม่ ที่แม้จะ ไม่รู้จักกันแต่ร่วมแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ"

 

"วิธีนี้คือพลังของพลเมืองรุ่นใหม่ และเป็นวิธีคิดใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวในโลก ออนไลน์ ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมจนสื่อมวลชนและเครือข่ายเอาข้อมูลไปใช้ นี่คือโลกสมัยใหม่ ที่อาศัยข้อสังเกตและเป็นทิศทางที่หลายๆ ประเทศใช้กัน"

 

การตรวจสอบการคอร์รัปชันของภาคประชาชนนี้ยังสอดคล้องกับคำว่า ความโปร่งใสสุดขั้ว (radical transparency) และข้อมูลเปิด (Open data) ซึ่งเติบโตและแข็งแรงขึ้นจากอินเทอร์เน็ต อีกทั้งรัฐที่มีเจตนาดีจะช่วยนำข้อมูลเข้าสู่ออนไลน์ ทำทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลเพื่อทำให้ประชาชนตรวจสอบได้ ขณะที่รัฐเองเมื่อเปิดเผยข้อมูลแล้วก็ช่วยลดต้นทุนกระดาษ และสร้างความโปร่งใส เช่น รัฐบาลประเทศยูเครน สโลวาเกีย เกาหลีใต้ ซึ่งมีรายงานตีพิมพ์ว่า เมื่อทำรายงานจัดซื้อจัดจ้างให้คนตรวจสอบได้จะช่วยประหยัดต้นทุนของรัฐและเกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งรัฐเองก็จะได้ประโยชน์

 

ดั่งคำเปรียบเปรยที่ว่า สิ่งที่ฆ่า เชื้อโรคได้ดีก็คือแสงแดด ซึ่งเปรียบว่าความโปร่งใส เปิดเผยคือต้นทางของการแก้คอร์รัปชันนั่นเอง

 

การตรวจสอบ ของภาคประชาชน ไม่ได้มาจากสาเหตุส่วนตัว หรือละเมิด ความเป็นส่วนตัว

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw